สมรรถนะ ทักษะและบทบาทครูไทยศตวรรษที่ 21

บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อสรุปบทเรียนและใช้ประกอบการเรียนในเนื้อหา

 “บทบาทครูไทยในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและศตวรรษที่ 21” 

ดาวน์โหลดฉบับ PDF File ที่นี่: บทบาทของครูไทยในศตวรรษที่ 21

 

สมรรถนะ ทักษะและบทบาทของครูไทยในศตวรรษที่ 21

ดร.สุไม  บิลไบ

วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็วทั้งด้านการแพทย์  การเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสารคือ การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมสังคมไทยเป็นสังคมแบบเรียบง่าย มีวิถีชีวิตที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างชนบทและในเมือง อันเนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นสังคมแห่งการแก่งแย่งแข่งขัน เน้นความสะดวกสบาย และรวดเร็ว มีการรับข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายช่องทาง และมีการส่งต่อแบ่งปันข้อมูลกันผ่านช่องทางที่หลากหลายจนกลายเป็นสังคมนิยมข้อมูล สิ่งเหล่านี้ทำให้ความแตกต่างระหว่างชนบทและเมืองน้อยลง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกลับส่งผลทางลบต่อสังคมของประเทศโดยภาพรวม

วัฒนธรรมของคนไทยเปลี่ยนจากการดำรงชีวิตแบบเดิม เน้นการนำเสนอและสร้างข้อมูลข่าวสารเพื่อแบ่งปันกันผ่านโลกออนไลน์ทั้งเฟซบุค (Facebook) ไลน์ (Line) อินสตาแกรม (Instagram) เป็นต้น ทำให้สังคมเสมือน มีความสำคัญกับคนไทยมากกว่าสังคมที่แท้จริง คนส่วนใหญ่ยึดติดกับการติดตามข้อมูลทางออนไลน์มากกว่าจะเสียเวลามานั่งอ่านหนังสือ สนใจฟังความรู้ หรือเลือกใช้ข้อมูลที่มีคนอื่นวิเคราะห์ สังเคราะห์มาให้แล้วมากกว่าการมานั่งวิเคราะห์ สังเคราะห์เองซึ่งข้อมูลเหล่านั้นมีทั้งถูกและผิด วัฒนธรรมการแบ่งปันข้อมูลผ่านทางออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาลโดยไม่มีการไตร่ตรองหรือกลั่นกรองข้อมูลนั้นก่อนนำไปใช้ทำให้เกิดอันตรายและเกิดผลกระทบอันร้ายแรงต่อสังคมและผู้คนที่เกี่ยวข้องตามมา

จากวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อวัฒนธรรมการเรียนการสอนก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ผู้เรียนยุคใหม่ไม่ชอบเรียนในห้องเรียนที่มีครูคอยจ้ำชี้จ้ำไช        ไม่ชอบวิธีการเรียนแบบเดิม ๆ ไม่ชอบนั่งฟังครูสอนเพียงอย่างเดียว เพราะผู้เรียนคิดว่าตนเองสามารถค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ได้เพียงแค่ใช้อินเตอร์เน็ตก็ได้รับความรู้มากมาย แต่การได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เรียนต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างแท้จริง มิใช่ค้นหาและทำการคัดลอกมาใช้ทันที แต่จากเสียงสะท้อนมากมายจากครูผู้สอน พบว่า ผู้เรียนใช้วิธีการค้นหาและคัดลอกงานหรือข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาจัดทำรายงานส่ง ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงมากกว่าการเรียนรู้  เป็นต้น จากการเปลี่ยนแปลงและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการสื่อสารทำให้นักการศึกษาหันมาให้ความสนใจและได้กำหนดทักษะของผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ดังนี้

  1. ทักษะการคิดวิจารณญาณ (Critical Thinking) ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ สามารถประเมินผลและประยุกต์ใช้ข้อมูลสารสนเทศและความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล
  2. ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration Skill) ผู้เรียนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้ตาม สามารถแสดงความคิดเห็นและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ทำให้งานของส่วนรวมประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ผู้เรียนสามารถสื่อสารกับเพื่อน ครูผู้สอน และบุคคล อื่น ๆ ในการทำงานร่วมกัน การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความคิดเห็นระหว่างกันได้ รวมถึงสามารถอธิบาย และนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ผู้อื่นรับรู้โดยใช้ภาษาที่ถูกต้องและสื่อสารได้อย่างชัดเจน เข้าใจได้ง่าย
  4. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ในการเรียนรู้ การประยุกต์ความรู้ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงสามารถสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ เทคนิค วิธีการ และ/หรือกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้
  5. ทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Skill) ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้า การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันความรู้ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถคัดกรองข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินข้อมูลได้อย่างเหมาะสม สามารถแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มีจริยธรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  6. ทักษะทางอาชีพและการใช้ชีวิต (Career Skill & Life Skill) ได้แก่
  • รู้จักปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งบทบาทหน้าที่ บริบท สภาพแวดล้อม และสถานภาพที่ได้รับ
  • มีความยืดหยุ่นในการทำงานและการดำรงชีวิต
  • มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นผู้นำ
  • มีความเป็นตัวของตัวเองที่มีศักยภาพและความสามารถหลากหลาย สามารถทำงานได้หลายหน้าที่ และจัดสรรแบ่งเวลาได้เหมาะสมระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต รวมถึงสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในที่ทำงานและในการใช้ชีวิตได้อย่างมีเหตุมีผล
  • ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีภาวะผู้นำ และมีความรับผิดชอบ
  • ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม จรรยา และยึดถือจรรยาบรรณในวิชาชีพของตนอย่างเคร่งครัด

 

สรุปทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

Learner's skills

                                           ภาพที่ 1 ทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

              การจะพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพหรือมีทักษะทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น ครู คือผู้ที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวก คอยชี้แนะแนวทาง คอยเป็นที่ปรึกษา ผลักดันและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพจนกระทั่งสามารถแสดงศักยภาพต่าง ๆ ออกมาได้อย่างครบถ้วน และครูผู้สอนที่ดีต้องมีลักษณะและมีสมรรถนะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถนำความรู้ ทักษะ และเจตคติของตนเองมาพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ มีทักษะ และมีเจตคติที่ดี ที่พร้อมจะออกไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ในที่สุด

สมรรถนะของครูผู้สอนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ ดังนี้

สมรรถนะหลัก (Core Competency) 5 ประการ ได้แก่

  1. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงาน
  2. การบริการที่ดี
  3. การพัฒนาตนเอง
  4. การทำงานเป็นทีม
  5. จริยธรรมและจรรยาบรรณครู

n สมรรถนะตามสายปฏิบัติงาน (Functional Competency) 6 ประการ ได้แก่

  1. การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้
  2. การพัฒนาผู้เรียน
  3. การบริหารจัดการชั้นเรียน
  4. การวิเคราะห์ สังเคราะห์และวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียน
  5. ภาวะผู้นำ
  6. การสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับชุมชน

สำหรับยุคแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารที่เต็มไปด้วยข้อมูลสารสนเทศหลากหลาย ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีทักษะสำคัญสำหรับยุคนี้ที่เรียกว่า C-Teacher (ถนอมพร   เลาหจรัสแสง)  ซึ่งได้แก่

  1. Content: ผู้สอนต้องมีความรู้และทักษะในเรื่องที่สอนเป็นอย่างดี เพราะหากผู้สอนไม่เชี่ยวชาญในเรื่องที่สอนหรือถ่ายทอด ก็ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้บรรลุเป้าหมาย
  2. Computer (ICT) Integration: ผู้สอนต้องมีทักษะในนการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีจะช่วยกระตุ้นความสนใจให้แก่ผู้เรียน ยิ่งถ้าได้ผ่านการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพจะยิ่งช่วยส่งเสริมทักษะที่ต้องการได้เป็นอย่างดี
  3. Constructionist: ผู้สอนต้องเข้าใจแนวคิดที่ว่า ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ขึ้นได้เองจากการเชื่อมโยงความรู้เดิมที่มีอยู่เข้ากับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้รับ และได้จากการลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่าง ๆ โดยครูสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างความรู้และสร้างสรรค์ชิ้นงานต่าง ๆ ผ่านการประยุกต์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากในชั้นเรียนและจากการศึกษาด้วยตนเอง
  4. Connectivity: ผู้สอนต้องสามารถจัดกิจกรรมให้เชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้สอนในสถานศึกษาเดียวกันหรือต่างสถานศึกษา รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาและสถานศึกษากับชุมชนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เป็นประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียน
  5. Collaboration: ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในลักษณะการเรียนรู้แบบร่วมมือระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เพื่อฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสารสนเทศระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะอาชีพและทักษะชีวิต
  6. Communication: ผู้สอนมีทักษะการสื่อสาร ทั้งการบรรยาย การยกตัวอย่าง การเลือกใช้สื่อ การนำเสนอสื่อ รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมนำไปสู่ความเข้าใจและสามารถเรียนรู้ได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
  7. Creativity: ผู้สอนในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องสร้างสรรค์กิจกรรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย แปลกใหม่จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด ผู้สอนต้องเป็นมากกว่าผู้ถ่ายทอดความรู้โดยตรงเพียงอย่างเดียว
  8. Caring: ผู้สอนต้องมีมุทิตาจิตต่อผู้เรียน ต้องแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยอย่างจริงใจต่อผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อใจส่งผลต่อการจัดสภาพการเรียนรู้ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งเป็นสภาพที่ผู้เรียนจะมีความสุขในการเรียนรู้และจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด

 

สรุปทักษะครูในศตวรรษที่ 21 ได้ดังนี้

 

Teacher's skills

ภาพที่ 2 ทักษะครูในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้การที่ผู้สอนมีทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ได้องค์ประกอบสำคัญที่ผู้สอนควรต้องมีในฐานะครูจำเป็นต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้จึงจะสามารถพัฒนาทักษะของตนเอง และผู้เรียนไปยังจุดมุ่งหมายที่ต้องการได้

  1. มีความรอบรู้มากขึ้นทั้งในสาขาที่สอนและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. มีความเป็นมืออาชีพ
  3. มีความสามารถและศักยภาพสูง
  4. เป็นผู้เตรียมความพร้อมให้นักเรียนในการเข้าสู่โลกของการทำงานในศตวรรษที่ 21
  5. มีความรักในอาชีพ
  6. มีชีวิตที่เรียบง่าย
  7. มีนวัตกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนบรรลุผลทางการเรียนรู้ที่ต้องการ

ดังนั้นในความเป็นครูมิใช่เรื่องง่ายเลยที่จะนำพาผู้เรียนไปสู่เป้าหมายที่ผู้เรียนต้องการ ครูในฐานะผู้สอนควรให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าครูเองก็เป็นผู้มีความสำคัญในบทบาทที่แตกต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ มีทักษะและมีเจตคติที่ดีในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ด้วยเหตุปัจจัยทางสังคม เทคโนโลยีและการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เน้นพัฒนาผู้เรียนให้ทันกับยุคสมัย ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม สามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้ความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ได้รับการพัฒนามาจากห้องเรียนและนอกห้องเรียนโดยมีครูทำหน้าที่ตามบทบาทต่าง ๆ อย่างเต็มเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ

 บทบาทครูในศตวรรษ 21 สามารถสรุปได้ดังนี้

 Teacher's Roless

       ภาพที่ 3 บทบาทครูผู้สอนในศตวรรษที่ 21 ที่จัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

 

 

2 ความเห็นบน “สมรรถนะ ทักษะและบทบาทครูไทยศตวรรษที่ 21”

ใส่ความเห็น